top of page
  • รูปภาพนักเขียนรินดาสอนสร้างธุรกิจจากที่บ้าน

6 กรณีกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยช่วยได้ (เบิกค่าเสียหายกับใครไม่ได้)

อัปเดตเมื่อ 22 เม.ย. 2566



มีหลายท่านสอบถามว่าหากเกิดอุบัติเหตุคู่กรณีไม่มี พรบ. ภาคบังคับ และไม่มีประกันภาคสมัครใจ จะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพที่ไหนได้บ้าง และมีกรณีไหนบ้างที่สามารถเบิกได้ ?



ถ้าเกิดเหตุรถชน หรือถูกรถชนขึ้นมา คงจะต้องเสียค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียหายอื่นๆ ทั้งหมดเองคงจะแย่ แต่ยังมีอีกหน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือได้นั่นคือ กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัย พ.ศ. 2535 มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถโดยจ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นหากผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัทประกัน หรือไม่สามารถเรียกร้องจากที่ใดได้ จากกรณีดังต่อไปนี้


1. รถคันที่ก่อเหตุไม่มีพรบ. หรือไม่มีประกัน และเจ้าของไม่ยอมจ่ายค่าเสียหาย

2. รถคันที่ก่อเหตุเป็นรถที่ถูกขโมยมา และได้มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้แล้ว

3. ไม่มีผู้แสดงความเป็นเจ้าของรถ

4. กรณีชน แล้วหนี

5. บริษัทประกันไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น หรือจ่ายไม่ครบ

6. ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากรถที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัย เช่นรถของหน่วยราชการ

และหลังจากที่กองทุนได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว ทางหน่วยงานจะดำเนินการไล่เบี้ยคืนจากผู้กระทำความผิดต่อไป โดยสิ่งที่กองทุนจะช่วยได้มีดังนี้


1. ค่ารักษาตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท

2. หากเสียชีวิตจะชดเชยเป็นค่าปลงศพ 35,000 บาท

3. ชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ และทุพพลภาพ 35,000 บาท

4. หากบาดเจ็บ และสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตในเวลาต่อมา จะชดเชยรวมไม่เกิน 65,000 บาท



ดังนั้นหากคุณประสบเหตุที่ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากประกันได้ คุณสามารถยื่นคำร้องต่อกองทุนผู้ประสบภัยจากรถได้ วิธีการที่ดีที่สุดรถทุกคันต้องทำ พรบ.เพราะ พรบ.รักษาผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถคันนั้น เบี้ยถูกมากแต่ให้ความคุ้มครองเยอะมาก ความคุ้มครอง พรบ.


การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ

ในการยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนฯ ผู้ประสบภัยหรือทายาท จะต้องยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยภายใน 180 วัน นับแต่วันเกิดเหตุ โดยสามารถยื่นคำร้องได้ที่

  1. สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย กรมการประกันภัย สายด่วน คปภ.1186

  2. สำนักงานประกันภัยจังหวัดทุกจังหวัด

  3. สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขตทั้ง 4 เขต


bottom of page